โรคตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) ในสุนัข
บทนำ
โรคตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis)ในสุนัขเป็นโรคที่มีแนวโน้มที่จะมีอันตรายถึงชีวิตได้ และเป็นโรคที่สำคัญอันดับต้นๆในกลุ่มโรคทางเดินอาหารและตับที่ทำให้มีการแอดมิท (รับสัตว์ป่วยเข้าค้างคืนเพื่อดูแลต่อเนื่องภายในโรงพยาบาลสัตว์) ที่โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์ ทีมสัตวแพทย์และพยาบาลสัตว์มุ่งมั่นที่จะให้การดูแลที่จำเป็นเพื่อรักษาโรคนี้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ปัจจัยเสี่ยงจากอาหารและโรคตับอ่อนอักเสบ
การให้อาหารบางประเภทเพิ่มความเสี่ยงของโรคตับอ่อนอักเสบในสุนัขได้อย่างมาก อาหารที่มีไขมันสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เชื่อกันว่าสามารถกระตุ้นการเกิดโรคในสัตว์ที่มีความไวต่อโรคนี้ได้ สุนัขควรหลีกเลี่ยงเศษอาหารที่มีไขมันสูงและขนมสุนัขที่มีไขมันสูง
ภาพรวมของโรคตับอ่อนอักเสบในสุนัข
โรคตับอ่อนอักเสบอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ SIRS (systemic inflammatory responsive syndrome: กลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกายหรือพูดง่ายๆคือการอักเสบเพียงจุดเดียวกระจายเป้นการอักเสบทั่วร่างกายได้)และโน้มนำไปสู่ภาวะอวัยวะล้มเหลว (organ failure) และเสียชีวิตได้ในที่สุด โดยทั่วไปโรคนี้คิดเป็นประมาณ 1.4% ของสุนัขป่วยที่รับเข้าค้างคืนเพื่อดูแลต่อเนื่องภายในโรงพยาบาลสัตว์สำหรับโรคทางเดินอาหารและตับ สุนัขป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ถ้ามีอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ (multiple organ dysfunction syndrome: MODS) ร่วมด้วยจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงมากถึงประมาณ 72.2% และมีเพียง 20.3% ของเคสเหล่านี้ที่รอดชีวิตได้
อาการของโรคตับอักเสบในสุนัข ได้แก่
– อาเจียน: เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด
– ปวดท้อง: สุนัขอาจแสดงท่าหมอบพร้อมกับโก่งตัวหรือเจ็บเมื่อจับท้อง
– ท้องเสีย: อาจไม่เกิดขึ้นในทุกเคสแต่ก็ค่อนข้างพบได้บ่อย
– ไม่มีความอยากอาหาร
– อ่อนเพลีย
– ไข้
– ร่างกายขาดน้ำ
การวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบ
นอกเหนือจากการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าชีวะเคมีอย่างละเอียด ความเป็นกรดด่างของเลือดและเกลือแร่ในเลือดแล้ว สัตวแพทย์จะตรวจ canine pancreatic lipase immunoreactivity (cPL) เป็นดัชนีชี้วัดทางชีวะภาพหลักในการวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบ การตรวจ cPL เป็นการวัดระดับของ pancreatic lipase ในเลือด ซึ่งมักจะสูงในสุนัขที่มีโรคตับอ่อนอักเสบ การทดสอบนี้มีความไวและจำเฉพาะสูงสำหรับการวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบในสุนัข นอกจากนี้ สัตวแพทย์ใช้การถ่ายภาพรังสีช่องท้อง ร่วมกับการอัลตราซาวด์และประเมินอาการทางคลินิกและประวัติของสุนัขเพื่อทำการวินิจฉัยอย่างครอบคลุม
อัตราการเสียชีวิตและปัจจัยที่มีส่วนร่วม
สุนัขที่เข้ารับการรักษาใน Intensive Care Unit (ICU) มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 40%
สุนัขที่มีน้ำหนักเกินมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่าสุนัขน้ำหนักตัวปกติ 10 เท่า สุนัขที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วยก็มีการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ
สุนัขที่อายุมาก โดยเฉพาะที่อายุเกินสิบปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50%
ความล่าช้าในการรักในการรักษา: หากการให้สารน้ำล่าช้าเกิน 24 ชั่วโมงหลังจากการวินิจฉัย อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นไปถึง 60%
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดเชื้อ: สุนัขที่มีอาการติดเชื้อร่วมกับโรคตับอ่อนอักเสบมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 64%
การป้องกันและการรักษา
การรักษาทางอายุรกรรม ได้แก่
– การให้สารน้ำทันทีและมากพอที่จะเพื่อรักษาการไหลเวียนโลหิตของตับอ่อน
– ยาแก้ปวด fentanyl เข้าเส้นอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงหรือยาแก้ปวดอื่น
– ยาระงับอาเจียน maropitant ร่วมกับยาลดกรดในทางเดินอาหาร
– รวมถึงยารักษาตามอาการต่างๆ
– ยาปฏิชีวนะ ถ้ามีข้อบ่งชี้ของการติดเชื้อ
– งดอาหารและน้ำประมาณ 3-5 วันและเมื่ออาการดีขึ้น ค่อยๆเริ่มให้อาหารไขมันต่ำย่อยง่ายทีละนิด
– มาตรการป้องกัน ได้แก่ การรักษาน้ำหนักที่เหมาะสม การให้อาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุชองสุนัข และให้ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการจัดการโรคเบาหวานอย่างมีประสิทธิภาพ
บทสรุป
การวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการโรคตับอ่อนอักเสบ โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์ มุ่งมั่นที่จะให้การรักษาสัตว์ที่ดีที่สุดเพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน และการเสียชีวิตของสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ ติดต่อเราเพื่อนัดหมายสัตวแพทย์ของเราเมื่อสัตว์เลี้ยงของคุณป่วยด้วยโรคตับอ่อนอักเสบ